วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2557


24  ธันวาคม 2556
วิชาการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษEAED2209
เวลา  11.30 - 14.00 น.


หมายเหตุ

                      ไม่มีการเรียนการสอนเนื่องจากสอบกลางภาค และดิฉันได้หาเนื้อหาเพิ่มเติม


 การเรียนร่วมของเด็กที่มีความต้องการพิเศษมีความสำคัญและความเป็นมาอย่างไร?
           ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา มาตรา 10 กำหนดว่า การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษา ขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และวรรคสอง การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพหรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ การศึกษาสำหรับคนพิการในวรรคสอง ให้จัดตั้งแต่แรกเกิด หรือพบความพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับสิ่งอำนายความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง สาระสำคัญของพระราชบัญญัติการศึกษา เกี่ยวกับสิทธิและโอกาสทางการศึกษาของเด็กทุกประเภท ทำให้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 ได้กำหนดหลักการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยว่า การจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยต้องยึดหลักการอบรมเลี้ยงดูควบคู่กับการให้การศึกษา โดยต้องคำนึงถึงความสนใจ และความต้องการของเด็กทุกคนทั้งเด็กปกติ เด็กที่มีความสามารถพิเศษ และเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม สติปัญญา รวมทั้งการสื่อสารและการเรียนรู้ หรือเด็กที่มีร่างกายพิการหรือทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแล หรือผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาทุกด้านทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา อย่างสมดุล โดยจัดกิจกรรมที่หลากหลาย บูรณาการผ่านการเล่น และกิจกรรมที่เป็นประสบการณ์ตรงผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า เหมาะสมกับวัย และความแตกต่างระหว่างบุคคล ด้วยปฏิสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ เด็กกับผู้เลี้ยงดูหรือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กแต่ละคนได้มีโอกาสพัฒนาตนเองได้ตามลำดับขั้นของพัฒนาการสูงสุดตามศักยภาพ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข เป็นคนดีและคนเก่งของสังคม สอดคล้องกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา สภาพทางเศรษฐกิจ สังคม โดยความร่วมมือจากบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น จากหลักการของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยแสดงให้เห็นว่าหลักสูตรให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกประเภทรวมถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
เด็กที่มีความต้องการพิเศษ (Special Needs) หมายถึง เด็กที่มีความต้องการทางการศึกษาที่แตกต่างไปจากปกติทั่วไป ทั้งในด้านเนื้อหา วิธีการเรียนการสอน การประเมินผล และเครื่องมืออุปกรณ์การสอน ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากสภาพความบกพร่องทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นช่วยเหลือ การบำบัดฟื้นฟูและให้การเรียนการสอนที่เหมาะสมกับลักษณะและความต้องการของเด็ก กระทรวงศึกษาธิการได้แบ่งเด็กที่มีความต้องการพิเศษออกเป็น 10 ประเภท โดยเป็นเด็กพิการที่ต้องการการจัดการศึกษาพิเศษ 9 ประเภท และเป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษ 1 ประเภท ดังรายละเอียดต่อไปนี้
·         เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน หมายถึงเด็กที่สูญเสียการได้ยินตั้งแต่ 26 เดซิเบลขึ้นไป ทำให้สูญเสียการได้ยิน เป็นเหตุให้รับฟังเสียงต่างๆได้ไม่ชัดเจน ซึ่งมี 2 ประเภท คือ
o    เด็กหูตึง หมายถึง เด็กที่สูญเสียการได้ยินถึงขนาดที่ทำให้มีความยากลำบากจนไม่สามารถเข้าใจคำพูด และการสนทนา แต่ไม่ถึงกับหมดโอกาสที่จะเข้าใจภาษาพูดจากการได้ยินด้วยหูเพียงอย่างเดียว
o    เด็กหูหนวก หมายถึง เด็กที่สูญเสียการได้ยินมากถึงขนาดที่ทำให้หมดโอกาสที่จะเข้าใจภาษาพูดจากการได้ยินด้วยหูเพียงอย่างเดียว
·         เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น หมายถึงเด็กที่มีปัญหาในการใช้สายตาเพื่อการเรียนหนังสือ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ
o    เด็กตาบอดบางส่วน หรือเด็กสายตาเลือนราง หมายถึง เด็กที่มีสายตาบกพร่องภายหลังจากการแก้ไขแล้ว มีสายตาอยู่ระหว่าง 20/70 และ 20/200 ฟุต สามารถมองเห็นได้บ้าง
o    เด็กตาบอด คือ เด็กที่มีสายตาเหลืออยู่น้อยมากหรือไม่มีเลย ภายหลังจากการแก้ไขแล้วมีสายตาเกินกว่า 20//200 ฟุต ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้สายตาในการเรียนหนังสือได้
·         เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา หมายถึงเด็กที่มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กทั่วไป และเมื่อวัดระดับสติปัญญาด้วยแบบทดสอบมาตรฐานแล้ว พบว่ามีระดับต่ำกว่าเด็กทั่วไป เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาอาจมีปัญหาทางบุคลิกภาพ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เนื่องจากความล้มเหลวในการทำงานต่างๆ และต้องพึ่งพาผู้อื่น เด็กจะมีปัญหาในการเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนหรือสิ่งที่เป็นนามธรรม
·         เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ หมายถึง เด็กที่มีลำตัว แขน หรือขาผิดปกติ ได้แก่ เด็กที่มีเท้าใหญ่ หนา หรือผิดรูป เด็กที่มีกล้ามเนื้อลีบหรืออ่อนแรง ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนในสภาพแวดล้อมเดียวกันกับเด็กปกติได้ จึงจำเป็นต้องจัดสภาพแวดล้อมใหม่ให้สอดคล้องกับความสามารถและความต้องการของเด็ก
·         เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องในกระบวนการทางจิตวิทยา ทำให้เด็กมีปัญหาการใช้ภาษา ทั้งด้านการฟัง การอ่าน การพูด การเขียน และการสะกดคำ หรือมีปัญหาด้านคณิตศาสตร์ โดยมิได้มีสาเหตุมาจากความบกพร่องทางร่างกาย ทางการเห็น ทางการได้ยิน ระดับสติปัญญา อารมณ์หรือสภาพแวดล้อม ลักษณะเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาการเรียนรู้ด้านภาษา โดยเฉพาะการอ่านและการเขียน และปัญหาด้านคณิตศาสตร์
·         เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม หมายถึงเด็กที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากเด็กที่มีวัยเดียวกันอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง แม้จะได้รับการบริการด้านการแนะแนวและให้คำปรึกษาแล้วก็ตาม ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ มีพัฒนาการทางการเรียนอย่างเชื่องช้า และมีปัญหาในการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน อย่างไรก็ตามปัญหาทางพฤติกรรมเหล่านี้ ต้องมิได้มีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางร่างกาย ประสาทสัมผัสการรับรู้ หรือสติปัญญา
·         เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องในการเข้าใจหรือการใช้ภาษาพูดจนไม่สามารถสื่อความหมายกับผู้อื่นได้ตามปกติ เช่น การพูดไม่ชัด จังหวะการพูดไม่ดี คุณภาพของเสียงผิดปกติ ตลอดจนการพูดผิดปกติที่เกิดจากการมีพยาธิสภาพของระบบประสาทส่วนกลางหรือระบบส่วนปลาย รวมทั้งการบกพร่องในด้านการรับรู้และการแสดงออกทางภาษา เป็นต้น
·         เด็กออทีสติก หมายถึง เด็กที่มีความต้องการพิเศษเนื่องมาจากความผิดปกติของระบบประสาท (neurological disorder) ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กตลอดช่วงชีวิต ทั้งด้านความสามารถในการสื่อสาร การสื่อความหมาย ความเข้าใจภาษาทั้งภาษาพูด และไม่ใช่ภาษาพูด การสร้างสัมพันธภาพทางสังคม จินตนาการในการเล่น ฯลฯ โดยความผิดปกตินี้ มักจะเกิดขึ้นก่อนอายุ 3 ขวบ อัตราการเกิดของเด็กออทีสติก คือ 1 ต่อ 125 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอดีตที่คาดการณ์ว่าพบเด็กออทีสติกในอัตรา 1 ต่อ 500 คน ในเด็กชายพบมากเป็น 4 เท่าของเด็กหญิง ไม่จำเพาะเจาะจงในด้านของเชื้อชาติ ศาสนา และพื้นฐานทางสังคมของครอบครัว
·         เด็กที่มีความบกพร่องซ้ำซ้อนหรือพิการซ้อน หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องทางอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายมากกว่า 1 ความบกพร่อง เด็กเหล่านี้อาจไม่ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโปรแกรมการสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่งโดยเฉพาะ จึงต้องมีการจัดบริการทางการศึกษาและการบริการด้านอื่นเพิ่มเติม ส่วนมากเป็นเด็กที่มีสภาพความบกพร่องอยู่ในระดับรุนแรง ลักษณะของเด็กมีความบกพร่องซ้ำซ้อน จะมีปัญหาในการช่วยเหลือตนเอง การทำกิวัตรประจำวัน ปัญหาการสื่อสาร ไม่สามารถเข้าใจผู้อื่น และไม่สามารถสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจความต้องการของตนเองได้ ปัญหาการเคลื่อนไหว ไม่สามารถหยับจับ นั่ง ยิน หรือเดินได้ด้วยตนเอง ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่มีความหมาย หรือเป็นการทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นและปัญหาทางสังคม เนื่องจากเด็กไม่สามารถรับรู้ หรือเรียนรู้วิธีการสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นได้ ซึ่งระดับความรุนแรงของปัญหาเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความบกพร่องซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นกับเด็ก และการช่วยเหลือฝึกฝน และฟื้นฟูสมรรถภาพ
·         เด็กปัญญาเลิศ หมายถึง เด็กที่มีความสามารถทางสมองสูงกว่าเด็กทั่วไป เป็นเด็กที่มีระดับสติปัญญาที่วัดได้จากแบบทดสอบมาตรฐานได้ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสูงกว่าค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 2 ขึ้นไป ลักษณะของเด็กที่มีปัญญาเลิศพบว่ามีความเฉลียวฉลาด และพัฒนาการเร็วกว่าเด็กทั่วไป อาจจะเป็นทางด้านภาษา ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดรวบยอด ความเข้าใจในสิ่งที่เป็นนามธรรม สัมพันธภาพและบุคลิกภาพ
จากสาระสำคัญตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ที่ได้ระบุถึงสิทธิ และหน้าที่ทางการศึกษาของเด็กที่มีความต้องการพิเศษทุกประเภทว่า เด็กเหล่านี้มีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ทำให้สถานศึกษาทุกแห่งต้องเตรียมพร้อมในการรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษประเภทต่างๆเข้ามาเรียนร่วมหรือเรียนรวมในชั้นเรียนปกติ ซึ่งเป็นการเรียนร่วมหรือการจัดชั้นเรียนพิเศษ หรือโรงเรียนปกติแล้วแต่กรณี การนำเด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้ามาเรียนร่วมกับนักเรียนปกติในระดับอนุบาล มีผลดีต่อนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ และในปัจจุบันมีแนวโน้มของการจัดการศึกษาแบบเรียนร่วมมากขึ้น โดยจัดให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้ามาเรียนร่วมในห้องเรียนเดียวกันกับเด็กปกติ หากความพิการเป็นอุปสรรคไม่สามารถเรียนร่วมในลักษณะดังกล่าวได้ ก็จะจัดเป็นชั้นเรียนพิเศษในโรงเรียนปกติ การจัดการเรียนร่วมระหว่างเด็กที่มีความต้องการพิเศษกับเด็กปกติอาจกระทำได้ในหลายลักษณะซึ่งมีรูปแบบต่างๆ แต่จะจัดการเรียนร่วมในลักษณะใดนั้นจะขึ้นอยู่กับสภาพความต้องการและความพร้อมของเด็ก ในการจัดชั้นเรียนพิเศษให้แก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียนปกติ เป็นการป้องกันไม่ให้เด็กรู้สึกว่าถูกตัดออกไปจากสังคมและเกิดความว้าเหว่ ช่วยไม่ให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษมีความรู้สึกเป็นปมด้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น